
Ikigai ของญี่ปุ่น ปูชนียบุคคลของญี่ปุ่น (2)
ในมุมแคบ
ความหมายของคำว่า iKigai อิคิ งะอิ 生き甲斐 คือ
1) การสร้างพลังกายและใจให้ตัวเองรู้สึกถึงความยินดี และความหมายของการมีเป้าหมายหรือมีจุดมุ่งหมายในชีวิต อีกนัยหนึ่งกือการสร้างยาคุมกันให้กำลังใจแก่จิตใจ
อิคิ งะอิ 生き甲斐 เป็นสำนวนที่ใช้บ่อยมาก สำหรับคนญี่ปุ่ในระดับบุคคลในครอบครัว เช่น
ถ้าถาม พ่อแม่บางคนว่า อิคิ งะอิ 生き甲斐 ของเขาคืออะไร แม่บางคน อาจจะตอบว่า อิคิ งะอิ 生き甲斐 ของเธอคือลูก เพราะเธอมีชีวิตอยู่เพื่อลูก ก็ถือว่า ลูกคือ อิคิ งะอิ 生き甲斐 ที่ทำให้แม่มีกำลังกายและใจ อยากมีชีวิตอยู่ในโลกนี้
2) ในมุมมองที่กว้าง
เพื่อรู้สึกและรำลึกถึงคุณค่าของการมีชีวิตในโลกนี้ (บอกตัวเองได้ว่าโชคดีที่ได้เกิดมาในโลกนี้ และมีชีวิตอยู่ในโลกนี้)
3) อยากมีร่างกายและจิตใจที่เข้มแข็ง เพื่อจะได้มีชีวิตที่ยืนยาว เพราะมีจุดมุ่งหมายในชีวิตที่อยากทำอะไรให้แก่สังคมและทำอะไรอุทิศให้แก่โลกของเรา ก่อนจากโลกนี้ไปถ้าเป็นไปได้และถ้าทำได้
อิคิ งะอิ 生き甲斐 ในอดีต และปัจจุบันของญี่ปุ่นอาจจะเปลี่ยนไปมากก็ตาม แต่คนญี่ปุ่นส่วนใหญ่ก็ยังซึมซับ อิคิ งะอิ 生き甲斐 เพื่อนำไปใช้ในชีวิตจนทุกวันนี้ เพียงแต่แปรรูปไปตามกาลเวลา
สำหรับตัวเอง
คำว่า อิคิ งะอิ 生き甲斐 เปรียบเสมือนน้ำทิพย์ที่หล่อเลี้ยงให้มีพละกำลังกายและใจในการใช้ชีวิต ไม่ว่าจะในมุมมองที่แคบหรือกว้างก็ตาม สับเปลี่ยนไปมาได้แล้วแต่สถานการณ์ และเวลา
ที่เป็นรูปธรรม แลที่ะตัวเองรู้สึกได้อย่างดี ก็คือ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน อิคิ งะอิ คือ ความรักและความทุ่มเทในสิ่งที่ตัวเองรักทีจะทำ หรือที่เรียกว่า passion นั่นเออง
หากปราศจากซึ่ง อิคิ งะอิ 生き甲斐 ตัวเองก็คงไม่มีพลังหรือตัวช่วยที่ทำให้เกิดพลังกายและใจในการทำงานและใช้ชีวิตก็ได้
—
จากหนังสือ “มองแดนซากุระ” ที่เขียนในห้วข้อเรื่อง ‘ปูชนียบุคคลของญี่ปุ่น’ บทความที่เอามาให้อ่าน ตีพิมพ์ในระหว่างกลางหรือปลายปี 1980-4 แต่รวบรวมพิมพ์เป็นเล่มเป็นครั้งแรกเมื่อปี ค. ศ. 1986 และพิมพ์ซ้ำอีกสามครั้ง
ปูชนียบุคคลของญี่ปุ่น
ถ้าเผอิญญี่ปุ่นไม่ได้รับเอาอารยธรรมอันเก่าแก่ของจีนตลอดจนภาษาและการเมืองมาใช้ในประเทศของตน ปัจจุบันญี่ปุ่นอาจจะเป็นประเทศเกาะเล็กๆที่ไม่มีใครรู้จักก็ได้ แต่จากการตัดสินใจรับการปกครองและสถาบันการเมืองแบบจีนมาใช้ โดยรวมศูนย์อำนาจการปกครองอยู่ที่จักรพรรดิตั้งแต่สมัยเริ่มมีการจารึกประวัติศาสตร์ แล้วเปลี่ยนอำนาจมาสู่มือโชกุนในสมัยศตวรรษที่ 14-16 และเข้าสู่สมัยฟิวดัล ในสมัยโทะคุงะวะ ซึ่งปิดประเทศเป็นเวลากว่า 200 ปี จนกระทั่งปัจจุบันนี้ ญี่ปุ่นได้ผ่านขั้นตอนการเปลี่ยนแปลงทั้งทางด้านการเมือง ศาสนา เศรษฐกิจ วัฒนธรรม รวมทั้งการรับเอาสิ่งแปลกๆใหม่ๆทั้งจากเกาหลี จีน และตะวันตก แล้วนำมาดัดแปลงเข้าเป็นของญี่ปุ่นนับตั้งแต่บัดนั้นจนบัดนี้ เป็นเวลาพันสี่ร้อยกว่าปีแล้ว
ในช่วงระยะเวลาดังกล่าว ถ้าญี่ปุ่นไม่รู้จักเก็บรักษาวัฒนธรรมตลอดจนศิลปเก่าๆ ตั้งแต่การติดต่อกับจีน และเกาหลีแล้วไซร้ มรดกเหล่านั้นก็คงจะสูญหายไปกับกระแสธารแห่งเวลา
แต่สิ่งที่คาดไม่ถึงก็คือ ชาวญี่ปุ่นนับตั้งแต่ดึกดำบรรพ์ต่างมีความตระหนัก หวงแหน และรู้ซึ้งถึงคุณค่าของสิ่งที่บรรพบุรุษได้มอบไว้อย่างยิ่งทำให้ชาวญี่ปุ่นมีความรัก และหวงแหนในการที่จะช่วยกันธำรงรักษาของมีค่าเหล่านั้นให้มีสืบต่อไป
จากความคิดและการเห็นการณ์ไกลดังกล่าวมีแรงผลักดันให้รัฐบาลญี่ปุ่นมีนโยบายพิเศษที่อาจกล่าวได้ว่า แตกต่างกับประเทศอื่นๆในโลกที่ว่า รัฐบาลญี่ปุ่นจะออกเงินทุนช่วยเหลือก้อนหนึ่ง เพื่อให้บุคคลที่มีความสามารถพิเศษเฉพาะและยังมีชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นเหล่านั้นได้แสดงฝีมือที่ตนมีชีวิตอยู่ อาจจะในรูปการแสดงละครโนห์ การปั้นถ้วยชาม การทำดาบ การทำระฆัง ตลอดจน การทอผ้าแบบเก่าของญี่ปุ่นซึ่งนับวันมีแต่จะสูญหายไปให้มีโอกาสนำมาเผยแพร่ให้คนได้รู้จักควบคู่ไปกับความเจริญรุดหน้าของญี่ปุ่นในปัจจุบัน
จากนโยบายดังกล่าวนี้ รัฐบาลญี่ปุ่นจึงได้เลือกสรรปูชนียบุคคลชาวญี่ปุ่นที่มีอาชีพเฉพาะของแต่ละบุคคลให้มีโอกาสแสดงพรสวรรค์และความสามารถของตนให้ชาวญี่ปุ่นได้ชื่นชม และยังส่งเสริมให้มีการถ่ายทอดแก่ผู้สนใจเพื่อจะได้มอบวิชาอันล้ำค่าดังกล่าวนี้ให้เป็นมรดกแก่ชาวญี่ปุ่นในปัจจุบันและรุ่นต่อๆไป เพียงเพื่อความปรารถนาที่จะให้ชนรุ่นใหม่ได้เข้าซึ้งถึงความมีค่าของศิลปเก่าแก่ของญี่ปุ่น ซึ่งศิลปะเก่าแก่ที่จะเขียนให้อ่านต่อไปนี้จะมีอยู่ไม่ได้หากไม่มีบุคคลประเภทเหล่านี้ ดังนั้นจึงสมควรอย่างยิ่งที่จะยกย่องนับถือ หวงแหน และให้เกียรติบุคคลที่มีความสามารถในแขนงวิชาชีพต่างๆที่ยังมีชีวิตอยู่ในญี่ปุ่นให้เป็น ‘ปูชนียบุคคลของญี่ปุ่น’ หรือ นิงเงง โคะคุโฮะ(人間国宝)
(มีต่อ)