กวีชื่อดัง มะทซึโอะ บะโช 芭蕉松尾 (1)
สวัสดีค่ะเด็กวัดโรงเรียนปรียาทุกคน
ตามคำเรียกร้องจากนักศึกษาที่เรียนวรรณคดีญี่ปุ่น เขียนมาบอกว่า อยากรู้ว่า บะโช มีความเป็นมาอย่างไร
ดิฉันเขียนเรื่องนี้ให้นักเรียนที่อยากรู้เรื่องไฮคุและเรื่องบะโชอ่านเมื่อสิบปีมาแล้ว
โดยส่วนตัวแล้ว ไม่มีความสามารถในการแต่งไฮคุ แต่ชอบบทกวี และสุภาษิตต่างๆ
วันนี้ เลยไปเรียบเรียงใหม่ และเอามาให้ทุกคนในเว็บนี้ ที่อาจมีคนที่มีความสามารถทางด้านการแต่งโคลง กลอน ได้อ่านเรื่องเกี่ยวกับ ความเป็นมาของชื่อกวีเอกญี่ปุ่น ถือว่าเป็นเกร็ดความรู้เล็กๆน้อยๆที่มาแบ่งปันกัน
————————–
ถ้าพูดถึง 俳句 ไฮคุ ของญี่ปุ่นใครๆ ก็คงต้องยกให้กวีชื่อดัง มะทซึโอะ บะโช 芭蕉松尾
บะโช เกิดใน ปี ค.ศ.1644 แถวอุเอะโนะ ในจังหวัด อิงะ กล่าวได้ว่า เขาเป็นกวีเอกที่มีชื่อเสียงที่สุดทางบทกวีไฮคุ ในสมัยเอะโดะของญี่ปุ่น
เมื่อตอนที่เขาอายุได้ 36 ปี หลังจากที่เขาย้ายออกจากบ้านไปอาศัยอยู่ที่กระท่อมคนเดียวได้หลายเดือน วันหนึ่งในฤดูใบไม้ผลิ มีคนเห็นต้นกล้วยปลูกอยู่ที่หน้ากระท่อมของบะโช แถบชานเมืองเอะโดะ หรือที่เรารู้จักกันดีว่าโตเกียวในปัจจุบัน
ต้นกล้วยที่เห็นคนนำมาปลูกหน้ากระท่อมนั้น เป็นของขวัญที่ลูกศิษย์ของบะโชส่งมาให้อาจารย์ เป็นการตอบแทนที่บะโชสอนบทกวีให้ เพราะรู้ว่าบะโชชอบต้นกล้วย ตอนนั้น เขายังไม่ได้ใช้ชื่อว่า บะโช 芭蕉
เขาชอบต้นกล้วยที่ปลูกหน้ากระท่อมมาก เพราะต้นกล้วยทำให้เขามีความรู้สึกว่า ตัวเขาเองไม่ได้แตกต่างอะไรกับต้นกล้วยที่ตั้งโด่เด่ ต้นเดียวอยู่หน้ากระท่อม เช่นเดียวกับ การที่เขาอยู่คนเดียว อย่างโดดเดี่ยวในกระท่อมหลังนั้น
พูดถึง ใบของต้นกล้วย ลักษณะของใบต้นกล้วย จะใหญ่แต่อ่อน และบอบบาง พอถูกลมจากทะเลพัดแรงหน่อย ใบกล้วยก็จะฉีกขาดไปตามความแรงของลมที่มากระทบกับใบกล้วย
ส่วนดอกของต้นกล้วยก็ตูมและมีขนาดเล็ก ดอกของต้นกล้วย ทำท่าเหมือนกับว่าคงไม่มีทางบาน
ต้นกล้วย ดูแล้วให้ความรู้สึกว่าสูงโด่เด่ เหมือนกับรู้ว่าคงจะไม่มีทางที่จะกลายเป็นผลกล้วยให้คนได้ชื่นชม เพราะอากาศที่แสนจะหนาวเย็นของญี่ปุ่น
แต่ทว่าลำต้นของต้นกล้วยกลับยาว และดูแข็งแรงสดชื่น แต่ตัวบะโชเองก็ไม่รู้เหมือนกันว่า จะเอาต้นกล้วยนี้ไว้ทำประโยชน์อะไรได้บ้าง
(มีต่อ)