
วะบิ ซะบิ แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต เขียนโดย เบท เคมตัน (1)
ก่อนอื่น ต้องขอขอบคุณ คุณ smptong ที่เขียนย่อเรื่องราวเกี่ยวกับ วะบิ ซะบิ: แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต ในเว็บไซด์ของคุณ วินทร์ เลียวาริณ เห็นว่าน่าสนใจมาก ก็เลยขอเอามาให้ โรงเรียน เด็กวัดปรียา ได้อ่านกัน โดยจะขอตัดตอนให้สั้นลง เพื่อจะได้เข้าใจง่ายขึ้น ด้วยความบังเอิญ ดิฉันเองก็กำลังอ่านหนังสือ ชื่อ เรื่อง “wabi sabi” โดย Beth Kempton เช่นกัน อ่านแล้วติดใจมาก เพราะทำให้ดิฉันคิดถึงตัวเองตอนที่ไปญี่ปุ่นใหม่ๆ และผู้เขียนหนังสือก็ใช้เวลาและชีวิตกับการใช้ชีวิตเรียน และทำงานพอๆกันคือ ยี่สิบปี
ขอขอบคุณ คุณ smptong สำหรับเนื้อหาที่น่าสนใจ และขอนำเนื้อหาที่ คุณ smptong เขียนในคอลัมน์ คุยกับ วินทร์ มาให้ทุกคนได้อ่านกัน
ผมเคยสรุปย่อหนังสือเกี่ยวกับวะบิ ซะบิก่อนหน้านี้ เขียนโดย Leonard Koren แปลโดย สายพิณ กุลกนกวรรณ ฮัมดานี ไม่นานมานี้เจอหนังสือเกี่ยวกับวะบิ ซะบิเช่นกันชื่อว่าวะบิ ซะบิ: แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิตเขียนโดย Beth Kempton ผมมิบังอาจวิพากษ์ว่าเล่มใดดีกว่ากัน คิดว่าการได้อ่านหนังสือมากกว่าหนึ่งเล่มเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกันมากกว่า ทำให้ความเข้าใจเลือนรางมีความชัดเจนมากยิ่งขึ้น…
บางส่วนจากคำนำผู้แปล วุฒิชัย กฤษณะประกรกิจ
เคยมีคนบอกว่า หนังสือแนวพัฒนาตัวเองทั้งโลกหล้า ล้วนสามารถสรุปรวมเนื้อหาแบ่งออกเป็นสองแนวทาง แนวทางแรกคือกระตุ้นเร้าให้ลงมือทำโดยบอกว่า “คุณทำได้” และแนวทางที่สอง คือการปลอบโยนให้คุณ “มีความสุขกับสิ่งที่เป็น”
หลังจากติดตามอ่านหนังสือเหล่านี้มานาน และทำงานแปลออกสู่ตลาดอย่างต่อเนื่อง ผมเองเห็นด้วยว่าถ้าเราสรุปอย่างหลวม ๆ มันก็เป็นจริงตามนั้น อย่างเช่น หนังสือของไบรอัน เทรซี Just Shut Up and Do it และ Bull’s-Eye: The Power of Focus ก็เน้นไปในแนวทางแรก ขณะที่หนังสือ The Little Book of Ikigai ของ เคน โมงิ และ Kintsugi ของ โทนาส นาวาร์โร เน้นไปในแนวทางที่สอง
หนังสือแต่ละเล่ม แต่ละแนว มีความเหมาะสมกับแต่ละช่วงชีวิตของผู้คน และแต่ละบริบททางสังคม มันให้ประโยชน์แตกต่างกันไปตามสภาพการณ์
มาในพักหลัง ๆ แนวทางที่ผมสนใจ ส่วนใหญ่เป็ฯหนังสืออย่างอิคิไกและคินสึงิ มันทำให้รู้สึกสบายใจ และพึงพอใจอยู่ลึก ๆ และสิ่งที่น่าสนใจอย่างยิ่ง จนผมอยากหยิบยกขึ้นมาอธิบายต่อไป คือมันมีบางช่วงบางตอนในหนังสือเหล่านี้ที่อ่านแล้วเกิดความรู้สึกแปลกประหลาดบางอย่าง…
จนเมื่อบรรณาธิการส่งหนังสือเล่มใหม่ของ เบท เคมป์ตัน มาให้ลองอ่าน ผมก็เลยดีใจอย่างยิ่ง ที่ในที่สุดก็มีเธอคนนี้มาช่วยแจกแจงความรู้สึกนี้ออกมา ว่ามันเป็นส่วนหนึ่งของสุนทรียะและปรัชญาแบบญี่ปุ่น แม้เรื่องราวของมันจะต้องอธิบายกันยาว ๆ จนกลายเป็นได้หนังสือทั้งเล่ม แต่ผมคิดว่ามีความจำเป็น
คล้ายกับหนังสืออิคิไกและคินสึงิ ที่ผมแปลมาก่อนหน้านี้ “วะบิ ซะบิ” แด่ความไม่สมบูรณ์แบบของชีวิต” เล่มนี้ คือการอธิบายแนวความคิดนามธรรม เป็นบรรยากาศที่ล่องลอยอยู่รอบตัว มันมีอยู่จริง แต่ส่วนใหญ่เรามองผ่าน มันผ่านเข้ามาในใจเพียงแวบ ๆ และเราได้รับแรงบันดาลใจในการใช้ชีวิตจากมัน
มันจึงยิ่งมีประโยชน์มากกว่าการเป็นแค่แรงบันดาลใจ ถ้าเราสามารถทำความเข้าใจอย่างเป็นกระบวนการ เพื่อหยิบจับนำมาประยุกต์ใช้งานได้อย่างเป็นเนื้อเป็นหนัง เบท เคมป์ตัน ช่วยเราทำเช่นนั้น ด้วยความที่เธอเป็นคุณแม่ยังสาว ชาวอังกฤษ เธอนำปรัชญาตะวันออกมารวมกับจิตวิญญาณแบบตะวันตก เธอนำเรื่องนามธรรมของวะบิ ซะบิ มาประยุกต์เข้ากับชีวิตประจำวันทุก ๆ ด้าน
การจัดบ้าน การบริหารเงิน ความรักความสัมพันธ์สุขภาพและใจ ฯลฯ และโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในโลกของการทำงานที่ต้องรีบเร่งและประชันขันแข่ง เธอพยายามผสาน ทั้งสองแนวทางของหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง ให้มีทั้งการปลอบโยนให้เราผ่อนคลายจากความคาดหวัง แล้วจึงกระตุ้นเร้าให้เราค่อย ๆ เริ่มต้นทำสิ่งใหม่ด้วยใจพอเพียง
ถ้าลองนำแนวคิดทั้งหลายหลากมาวางเทียบกัน จะพบว่าอิคิไก คือ why มันช่วยตั้งคำถามเรื่องเหตุผลและความหมายของชีวิต ส่วนคินสึงิ คือ how มันประยุกต์วิธีซ่อมถ้วยกระเบื้องแตกหัก ให้มาเป็นวิธีฟื้นฟูเยียวยาหัวใจที่แหลกสลายขณะที่วะบิ ซะบิ คือหนังภาคศูนย์ หรือ prequel ที่ช่วยอธิบายความรู้สึกภายในใจลึก ๆ ของเราที่มีต่อสรรพสิ่งรอบตัวอันจะเป็นจุดเริ่มต้นในการตั้งคำถามเรื่อง why และ how ดังกล่าวในลำดับต่อไป