อนุทินรัก สมัยเฮอังของญี่ปุ่น (5)

All about books, All about Japanese, and culture, Books, Terakoya, ชีวิตในญี่ปุ่น, วัฒนธรรม ความเชื่อ, โคลง กลอน

สถานภาพของผู้หญิงในสมัยเฮอัง

จาก อนุทิน คะเงะโร

ภาพพจนของผู้หญิงญี่ปุ่น ที่ห่อหุ้มตัวเองในชุดกิโมโนที่ทอด้วยผ้าไหมอย่างดี หลากสี หลายชั้น ที่ทอด้วยไหมและสีสันที่สวยงาม กว่าจะออกมาเป็นกิโมโนะ ให้คนได้ใส่ เพียงแค่เดินผ่านก็อดทึ่งในความสวยงามที่แปลกตา ประณีต ละเอียด ด้วยสีสันที่เลือกเฟ้น เป็นความสวยงามที่มีทั้งความสง่างาม ทั้งหรูหรา แม้กิโมโน ราคาแพงๆอาจจะปักด้วยดิ้นทองก็ตาม แต่ก็เป็นความสวยงามที่ไม่ได้ฉูดฉาด หรือใช้สีฉาบฉวย แต่เป็นความสวยงามที่มีความวิจิตร พิสดาร ไม่อาจจะบรรยายเป็นคำพูดได้ แต่เป็นที่น่าเสียดายที่ว่า นับวันคนญี่ปุ่นที่จะใส่ชุดกิโมโนให้เห็นเหมือนเมื่อสี่สิบปีก่อน ยิ่งวันยิ่งมีให้เห็นน้อยลงทุกที

ภาพพจน์ของผู้หญิงญี่ปุ่นในสมัยโบราณที่ห่อหุ้มด้วยชุดกิโมโน และสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงญี่ปุ่นในอดีต หรือแม้แต่ปัจจุบันก็ยังเป็นที่วิพากษ์วิจารณ์ของคนทั่วไป โดยเฉพาะอย่างยิ่งชาวตะวันตก ที่ถือว่าสตรีต้องเท่าเทียมกับผู้ชาย จึงไม่ใช่เรื่องแปลกที่จะมองว่า ผู้หญิงญี่ปุ่นนั้นมีสถานภาพทางสังคมด้อยกว่าผู้ชายและถูกกดขี่ทางเพศ

ในยามว่างของ ผู้หญิงในวัง สมัยเฮอัง

คำกล่าวที่ว่านี้ ถูกต้องเพียงไรนั้น มีความคิดว่า การที่จะกล่าวสรุปอย่างหยาบๆจากบทบาทและสถานภาพทางสังคมของผู้หญิงญี่ปุ่นซึ่งถ้านำไปเทียบกับผู้หญิงตะวันตกย่อมมีน้อยและด้อยกว่า แต่การที่จะยกประเด็นขึ้นมาถกเถียงเพียงแง่มุมเดียวคงไม่ถูกต้องนัก

ถ้าไม่ถูกต้องนัก แล้วจะตีความหมายว่า สถานภาพทางสังคมของผู้หญิงญี่ปุ่นเหนือกว่าผู้ชายได้หรือไม่ สำหรับในประเด็นนี้ อย่างน้อยที่สุด ถ้ามองจากบันทึกดั้งเดิมในประวัติศาสตร์ญี่ปุ่น นักประวัติศาสตร์คงไม่อาจจะปฎิเสธถึงสถานภาพทางสังคมที่เด่นของผู้หญิงในสมัยโบราณได้

คุณ (คะเนะอิเอะ) จำได้ไหมถึงคืนพายุฝน

ที่คุณมาหาฉัน แล้วก็ต้องรีบจากฉันไป

คุณ พูดถึงเดือนกรกฏาคม

คุณอยากจะบอกฉันให้พึงพอใจกับการพบของเราทั้งสอง

ที่มีน้อยพอๆกับดาวบนท้องฟ้าหรืออย่างไร

ฉันขอสรุปว่า ความทุกข์ที่เกิดขึ้นของฉัน เกิดจากชะตากรรมที่ฉันม่อาจหลีกหนีได้

กรรมเก่าในชาติก่อนที่ฉันได้ก่อเอาไว้

ซึ่งฉันคงต้องยอมรับกรรมนั้น

หลังจากที่หยิบยกบางตอนเกี่ยวกับความรู้สึกของผู้เขียน ตลอดจนฐานะของผู้เขียนอนุทินนี้

ทุกคนหรือน้องๆบางคน อาจจะสงสัยพอๆกับดิฉันก็ได้ที่ว่า จากรายละเอียดที่ได้จากการเขียนพรรณนาในอนุทินเล่มนี้ของเธอ เราจะพิจารณาฐานะของผู้หญิงในสมัยเฮอังได้มากน้อยเพียงไร เรื่องของเธอใช้เป็นข้อมูล เกี่ยวกับเรื่องฐานะของผู้หญิงในสมัยเฮอังได้หรือไม่

ดิฉันคิดว่า มีหลายประเด็นที่จะต้องหยิบยกขึ้นมาประกอบให้เห็นจริงในการที่จะพิจารณาเกี่ยวกับเรื่องฐานะของผู้หญิงในสมัยเฮอัง

ก่อนอื่น เราคงไม่ปฎิเสธความจริงที่ว่า อนุทิน คะเงะโร เป็นอนุทินที่เขียนเกี่ยวกับชีวิตจริงๆของลูกสาวผู้ว่าราชการจังหวัดคนหนึ่ง ที่ต้องแต่งงานกับคะเนะอิเอะ ซึ่งเป็นหลานชายของตระกูล ฟุจิวะระ ผู้กุมอำนาจทางการเมืองในสมัยนั้น แต่การที่จะสรุปจากการอ่านอนุทินของเธอเพียงเท่านั้น แล้วก็สรุปว่าเป็นฐานะของผู้หญิงในสมัยเฮอังคงไม่ถูกต้องและเหมาะสมนัก

แต่อย่างน้อยที่สุดก็ทำให้เรารู้สถานการณ์ต่างๆที่ชัดเจนพอสมควรเกี่ยวกับผู้หญิงชนชั้นสูงในสมัยเฮอัง ว่ามีชีวิตความเป็นอยู่อย่างไร

อนุทินเล่มนี้ ยังแสดงให้รู้ถึงความจริงที่ว่า ในสมัยนั้น การที่ผู้ชายมีภรรยามากกว่าหนึ่งคนนั้นขัดกับตัวบทกฏหมายที่กำหนดไว้ แต่ในภาคปฎิบัติ ในหมู่ชนชั้นสูง การที่สามีอาศัยมีภรรยาคนที่สองได้ แม้จะไม่มีหลักฐานแน่นอนที่นำมาอ้างอิงได้ หรือการที่สามีอาศัยในบ้านเมียหลวงนั้นถือเป็นประเพณีที่นิยมปฎิบัติกัน แต่ไม่มีประเพณีว่า ผู้หญิงที่แต่งงานแล้วไปอยู่บ้านสามีได้ในสมัยเฮอัง

นอกจากนั้น อนุทินนี้ยังสะท้อนให้เห็นชีวิตที่ซ้ำซากจำเจในวันๆหนึ่งของผู้หญิงในสมัยนั้น ที่วันๆไม่มีอะไรทำ หรือไม่มีกิจกรรมอะไรที่ให้ผู้หญิงชนชั้นสูงทำได้ นอกจาก วันๆได้แต่นั่งรอการไปเยี่ยมหรือการไปหาของสามี และการแต่งโคลง กลอน ตอบชายหนุ่มที่เขียนไปหาเธอเท่านั้นหรือไม่ก็ได้แต่รำพึงรำพังถึงความรักที่เธอมีแต่ชายที่เขียนโคลงกลอนไปหาเธอ

(มีต่อ)

Leave a Reply