
บะโช กระท่อมน้อย และต้นกล้วย (ตอนจบ)
จากบทกวีนี้ เราคงจะเห็นได้ว่า เขามีความสัมพันธ์ทางด้านจิตใจที่แน่นแฟ้น ตลอดจนความรู้สึกร่วมกับต้นกล้วยซึ่งปลูกไว้หน้ากระท่อมของเขา คงเป็นเสมือนเพื่อนคนเดียวของเขาในคืนฝนตก
คนที่ไปมาหาสู่เขา ส่วนใหญ่คงจะมองเห็นต้นกล้วย เพราะปลูกสูงโด่เด่อยู่หน้ากระท่อม คนที่ไปมาหาสู่เขาคงมองว่า ต้นกล้วยนั้นก็คงเป็นเพียงต้นกล้วยธรรมดาต้นหนึ่งเท่านั้น
บางคนอาจจะเห็นความผูกพันที่เขามีต่อต้นกล้วยที่ปลูกหน้ากระท่อมของเขาว่าคงไม่ใช่ต้นกล้วยธรรมดา
หลังจากที่เขาย้ายเข้าไปอยู่ในกระท่อมหลังนั้น คนที่ไปมาหาสู่บะโช จะเรียกว่า ‘กระท่อม’แต่พอเห็นว่าบะโชมีความผูกพัน และรักต้นกล้วยต้นนั้นอย่างมาก คนที่ไปมาหาสู่ก็เลยตั้งชื่อกระท่อมหรือบ้านพักของเขา เวลาที่พูดถึงกระท่อมของเขาว่า บะโช 芭蕉(ばしょう) หรือ ‘ต้นกล้วย’
จากนั้นมา คนที่ไปมาหาสู่แทนที่จะเรียกว่า ‘กระท่อม’กลับเปลี่ยนไปใช้ชื่ออาจารย์ที่สอนบทกวีให้พวกเขาว่า ‘อาจารย์ บะโช’หรือ ‘อาจารย์ต้นกล้วย’ นั่นเอง ซึ่งบะโช เองก็ไม่ปฏิเสธเวลาที่คนเรียกเขาจากชื่อเล่นนี้ เพราะตัวเขาเองก็มีใจรักผูกพันกับต้นกล้วยต้นนั้นอย่างมาก จากนั้นมาชื่อ บะโช 芭蕉(ばしょう) จึงเป็นไม่ใช่เป็นเพียงชื่อของ กระท่อมที่มีต้นกล้วยเท่านั้น แต่ยังเป็นชื่อเล่นของเขาอีกด้วย
นี่คือที่มาของ บะโช 芭蕉(ばしょう) ชื่อของกวีเอกไฮคุของญี่ปุ่น ที่ทั่วโลกรู้จักกันดีจนกระทั่งทุกวันนี้